เมื่อฝุ่นพิษบินข้ามพรมแดนได้ ประเทศไทยจะทำอย่างไรดี
CiCalendar
25 Dec 2023
viewer
2600

เมื่อฝุ่นพิษบินข้ามพรมแดนได้ ประเทศไทยจะทำอย่างไรดี


ต้นปีพ.ศ.2566 นับเป็นปีที่ไทยเรามีค่าฝุ่นพิษสูงที่สุดในรอบ 5 ปี ไม่ว่าจะในเขตกรุงเทพมหานครหรือในจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ ที่ค่าฝุ่นทะลุระดับวิกฤติยาวนานถึง 14 วัน ไม่รวมถึงจังหวัดที่ติดเขตชายแดน ที่ได้รับผลกระทบจากการเผาพื้นที่เกษตรของประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่อง แล้วเราจะจัดการปัญหานี้อย่างไร ในเมื่อฝุ่นพิษ PM2.5 บินข้ามพรมแดนได้ทั้งปีแบบฟรีวีซ่า



เรื่องทางออกของปัญหาฝุ่นข้ามแดนนี้ หลายคนเข้าใจว่าเราต้องหวังพึ่ง ‘กลไกอาเซียน’ ผ่านพลังของหน่วยงานรัฐและฝ่ายการเมืองเข้าช่วย แต่จากที่เราเห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้น ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่ากลไกอาเซียนจะเป็นคำตอบของ ‘ปัญหาเร่งด่วน’ เช่นนี้ ได้หรือไม่


เพื่อนำเสนอแนวคิดเชิงนโยบาย ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เคยได้จัดเสวนาในหัวข้อ ‘ฝุ่นพิษ PM 2.5 ข้ามพรมแดน : แก้ไม่ได้จริงเหรอ’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการไฟป่าในภูมิภาคอาเซียนตอนบน นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม และผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายอากาศสะอาด เข้าร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อหวังจะสื่อสารไปยังรัฐบาลชุดใหม่





ในเวทีเสวนามีการอ้างถึงข้อมูลดาวเทียมจาก GISTDA ที่บอกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีจุดความร้อน (hot spot) หรือไฟป่าเกิดขึ้นเยอะที่สุดตามลำดับคือ พม่า ลาว และไทย ซึ่งสาเหตุก็จะคล้ายๆ กันนั่นคือมาจากการถางและเผาเพื่อทำไร่-ล่าสัตว์ แต่สำหรับ ‘ฝุ่นพิษข้ามแดน’ที่ไทยเรากำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ จะมีที่มาจากสองฟากฝั่ง นั่นคือ

1) ทางภาคเหนือ (ช่วงธันวาคมถึงเมษายน) จากการเผาในลาว เมียนมา และกัมพูชา และ

2) ทางภาคใต้ (ช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม) ที่ไทยและมาเลเซียต่างได้รับผลกระทบหนักจากการเผาในอินโดนีเซีย


ถ้านับเป็นช่วงเวลาต่อปีก็รวมกันถึงกว่า 8 เดือน ที่เราต้องโดนฝุ่นพิษข้ามแดนเล่นงานหนัก แถมตัวเลขการเผาในภูมิภาคอาเซียนก็ไม่มีทีท่าจะชะลอลงด้วย ล่าสุดใน พ.ศ.2566 เพิ่งทำสถิติย่ำแย่ที่สุดในรอบ 9 ปี ซึ่งหากเราลองตีมูลค่าความเสียหายที่ฝุ่นพิษพวกนี้ที่มีต่อครัวเรือนไทยแล้ว ตัวเลขที่เราเคยประเมินไว้ (เมื่อปีพ.ศ.2562) นั้นสูงถึง 2.173 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว





หันกลับมามองเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ ที่บางคนฝากความหวังเอาไว้ เราจะตกใจว่าทุกวันนี้การจัดการปัญหามลพิษข้ามพรมแดนภายในอาเซียนนั้น แม้จะมีการทำความตกลงกันที่ชื่อว่า “ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษข้ามพรมแดน” (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) แต่แทบไม่มีกลไกใดที่บังคับใช้ระหว่างกันได้จริงจังเลย สิ่งที่รัฐบาลชุดก่อนทำไว้มีเพียงแค่การขอความร่วมมือระหว่างรัฐแบบไร้ข้อผูกมัด เป็นการประสานความร่วมมือแต่เพียงหลวมๆ ซึ่งไม่ได้ทำให้คนไทยได้รับอากาศบริสุทธิ์กลับมาหายใจกันแต่อย่างใด ปัญหาฝุ่นข้ามแดนก็ยังคงเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำๆ มาเป็นสิบปี


หากย้อนไปดูประเทศในอาเซียนที่จริงจังกับการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ เราคงต้องยกนิ้วให้กับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องอากาศสะอาดมาก ๆ มีการออกกฎหมายอากาศสะอาดตั้งแต่ปี 1971(ที่เมืองไทยของเรายังไม่มีสักที) แต่ด้วยสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ แม้จะจัดการมลพิษทางอากาศในประเทศตัวเองได้ดี แต่ก็ยังต้องเผชิญกับฝุ่นพิษข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษข้ามพรมแดนก็เป็นหมันในการบังคับใช้ สิงคโปร์เลยมีการออกกฎหมายมลพิษข้ามพรมแดน ปี 2014 มาอีกฉบับ เพื่อส่งสัญญาณให้เพื่อนบ้านปรับตัว โดยเฉพาะกลุ่มทุนที่ทำธุรกิจข้ามชาติ นำไปสู่การทำสัญญาเรื่องมลพิษข้ามแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้อินโดนีเซียลดการเผาลงได้จริง นี่คือตัวอย่างของประเทศที่เห็นความสำคัญ และพร้อมที่จะปกป้องประชาชนของตนเอง





นอกจากนี้ ยังมีกลไกที่ประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ในโลกใช้สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การที่ EU ออกกฎหมาย EU Deforestation เพื่อกีดกันสินค้าที่พิสูจน์ได้ว่ามาจากกระบวนการทำลายป่า เช่น เนื้อวัว ซึ่งแม้ไม่ได้ระบุถึงข้าวโพดโดยตรง แต่เมื่อวัวกินอาหารจากข้าวโพด และข้าวโพดนั้นมาจากกระบวนการทำลายป่า ข้าวโพดก็จะถูกแบนไปด้วย


จึงเป็นไปได้ว่าประเทศไทยเราในฐานะผู้ก่อมลพิษและผู้รับซื้อสินค้าที่ก่อมลพิษ (ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่ามีพื้นที่อย่างน้อย 2 ล้านไร่ ที่ประเทศไทยมีส่วนสนับสนุนทำให้เกิดการเผาในเมียนมา) จะต้องเล่นไม้แข็งกับภาคเอกชนภายในประเทศเอง เพราะปฏิเสธไม่ได้เราก็มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้เกิดการเผารอบๆ บ้าน


บางทีการเก็บภาษีเพิ่มจากเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการเผานอกประเทศ เรื่อยไปถึงการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่สร้างมลพิษทางอากาศในอนาคต อาจจะเป็นกุญแจที่ไขปัญหานี้ออกก็ได้ แต่รัฐบาลจะต้องกล้าทำอย่างจริงใจ โดยไม่เกรงกลัวหรือเกรงใจนายทุนใหญ่ที่เกี่ยวข้องในวงจรนี้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้สักที


อ้างอิง

Thairath

Green News

Share
sharefbxx